ปัจจัยท้าทายความมั่นคง ทั้งความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ-ไต้หวัน และขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ ผลักดันให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้กลับมาเจรจาความร่วมมือทางการทหารกันอีกครั้ง
เนื่องจากมีปัจจัยท้าทายความมั่นคงอยู่ใกล้บ้าน ทั้งความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันระหว่างจีนกับสหรัฐ-ไต้หวัน และขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ ที่วันดีคืนดี “ท่านผู้นำ” นึกอยากแสดงแสนยานุภาพก็สั่งทดลองยิงขีปนาวุธออกทะเลทางตะวันออก
เป็นเหตุผลให้ญี่ปุ่นพยายามเจรจายกระดับความร่วมมือกับหลายประเทศ ทั้งสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ภายในประเทศญี่ปุ่นเองก็เพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงปี 2566 ขึ้นจากปี 2565 ถึง 26.3%
ส่วนเกาหลีใต้ซึ่งมีพรมแดนติดกับเกาหลีเหนือและจีนก็อยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา และเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงเช่นกัน โดยแผนป้องกันประเทศระยะ 5 ปี (2566-2570) ของเกาหลีใต้จะใช้จ่ายงบประมาณ 331 ล้านล้านวอน (268,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นการเพิ่มงบประมาณกลาโหมประมาณ 6.8% ต่อปี
ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จึงกลับมาเจรจาความร่วมมือทางการทหารกันอีกครั้งในรอบหลายปี หลังจากที่ระงับความร่วมมือทางทหารกันไปเมื่อปี 2561 จากกรณีที่เรือพิฆาตของกองทัพเกาหลีใต้ใช้ระบบเรดาร์ล็อกเป้าหมายเครื่องบินรบของญี่ปุ่น จนนำไปสู่การออกแถลงการณ์ประณามและลดระดับความร่วมมือกัน ตามมาด้วยการที่ญี่ปุ่นควบคุมการส่งออกสินค้า 3 ชนิดที่จำเป็นในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และจอแสดงผลไปยังเกาหลีใต้ เป็นการตอบโต้
ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ในการประชุมสุดยอดผู้นำของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ครั้งแรกในรอบ 12 ปี ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จึงตกลงยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกัน
ข่าวที่น่าสนใจ : ปชช.สหรัฐปรับลด